top of page

ทุกเรื่องครีมกันแดดที่คุณต้องรู้ก่อน ถ้าไม่รู้ถือว่า “พลาด”


จากผลสำรวจผู้ใหญ่ในวัยทำงานหลายคนบ่นว่า หนึ่งในสิ่งที่เสียใจที่สุดที่ไม่ได้ทำเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นก็คือ “ไม่ได้ทากันแดด”


หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรทาครีมกันแดด "เป็นประจำ" หรือทากันแดด "เป็นเรื่องปกติ" ไม่ใช่แค่ตอนจะไปทะเล หรือไปตากแดดแรง ๆ เท่านั้น หลายคนคิดว่าก็ไม่ได้ออกไปไหน ทำไมต้องทาครีมกันแดดด้วย ลูกค้าที่คลินิกบางท่านถึงแม้จะเป็นผู้หญิงก็ตาม ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับครีมกันแดด และยิ่งเป็นลูกค้าผู้ชายยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ชอบทาครีมกันแดด ยิ่งครีมที่เหนียว ๆ เหนอะหนะ ยิ่งไม่เอาเลยค่ะ 


ด้วยหลายๆ สาเหตุนี้จึงทำให้หลายท่าน เลือกที่จะละเลยการปกป้องผิวตนเองจากแสงแดดจนสุดท้ายก็ได้ผิวคล้ำดำเสียกลับมา ถ้าผิวดำคล้ำอย่างเดียวคงไม่เท่าไหร่นะคะ แต่ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับปัญหาผิวหยาบกร้าน แห้งเสียดูแก่ก่อนวัย หากถามว่าการทากันแดดจำเป็นมากแค่ไหน.. ตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่าสำคัญกว่าการทาครีมบำรุงบางตัวด้วยซ้ำ


กันแดดคืออะไร?

กันแดด คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อปกป้องผิวชนิดหนึ่ง โดยมากมักเป็นชนิดทา แต่ก็มีบ้างที่เป็นแบบสำหรับพ่น ที่ช่วยปกป้องผิวจากรังสีที่มาพร้อมกับแสงแดด นั่นก็คือรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตหรือรังสียูวีนั่นเอง หลักการทำงานของกันแดด แบ่งได้เป็นสองกลไกหลัก คือ การปกป้องผิวด้วยการดูดซับรังสียูวีที่มาจากแสงแดดไว้ที่ชั้นฟิล์มของกันแดดเอง ทำให้รังสียูวีไม่สามารถเจาะทะลุเข้าไปทำลายชั้นผิวหนังทั้งด้านนอกและด้านใน อีกกลไกหนึ่งก็คือการสะท้อนรังสียูวีออกไปจากผิวหนัง กันแดดที่ดีควรจะมีทั้งสองกลไกนี้ในการปกป้องผิวของคุณนะคะ


ทำไมต้องใช้ครีมกันแดด?

สำหรับบ้านเราที่มีดวงอาทิตย์ 2 ดวง! มากกว่าชาวบ้านชาวเมืองเค้า... ครีมกันแดดถือเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้ จริง ๆ แล้วแม้ทั้งวันคุณจะอยู่แต่ในร่มก็ยังควรทากันแดด เพราะอะไรทราบมั้ยคะ? ความจริงแล้วกันแดดมีไว้ป้องกันรังสี UV ที่มาพร้อมกับแสงจากดงวอาทิตย์ แสงแดดไม่ได้ร้ายนะคะ แต่รังสียูวีที่แฝงมากับแสงแดดต่างหากที่มันร้าย ที่แย่ไปกว่านั้น รังสียูวีไม่ได้มาจากดวงอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียวน่ะสิคะ จอคอมพ์ จอมือถือ หลอดไฟ ต่างก็มีการปล่อยรังสี UV ออกมาทั้งนั้น  นอกจากจะช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีแล้ว ครีมกันแดดบางชนิดยังมีส่วนผสมที่มีคุณสมบัติบำรุงผิวได้อย่างหลากหลายรวมอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่เพียงปกป้อง แต่ยังช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง ส่งผลให้มีผิวสวยสุขภาพดี พร้อมลุยกิจกรรมแบบไม่กลัวผิวเสียได้อย่างมั่นใจ


อันตรายจากแสงแดด สาเหตุหลักที่ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ

ผิวที่ได้รับแสงแดดมากเกินไปโดยที่ไม่ได้รับการปกป้อง อาจได้รับความเสียหายจนกลับมารักษาให้เป็นปกติดังเดิมได้ยาก โดยปัญหาหลัก ๆ ที่มักจะพบมีอยู่ 2 อย่าง ดังนี้

ฝ้า กระ จุดด่างดำ

ฝ้า กระ จุดด่างดำเป็นปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้ตามวัยหรือเกิดจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่ผิวถูกแสงแดดมากเกินไปอีกด้วย สำหรับฝ้านั้นจะมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลไปจนถึงดำ มักพบบริเวณโหนกแก้ม ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับแสงแดดมากที่สุดบนใบหน้า ในขณะที่ กระ จะมีลักษณะเป็นจุด ๆ สีน้ำตาล ปรากฏอยู่ในบริเวณหน้าและลำตัวได้เช่นกัน


ผิวแดง ไหม้แดด

เป็นภาวะของผิวที่เกิดการอักเสบ แดง และมีอาการแสบร้อน เนื่องจากได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือรังสียูวี (UV) ที่มากหรือนานเกินไป พบได้ทั่วไปทุกบริเวณที่โดนรังสียูวี เช่น หนังศีรษะ ริมฝีปาก ดวงตา จะมีอาการผิวไหม้ ผิวลอก ตุ่มพอง ทำให้ผิวเกิดริ้วรอยและอาจร้ายแรงจนถึงขั้นพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็ง ปัญหาเหล่านี้ เมื่อได้สอบถามจากต้นตอของแต่ละคนจริง ๆ มักพบว่ามาจากพฤติกรรมที่ไม่ค่อยได้ทากันแดด หรือ ทาเพียงครั้งเดียวก่อนออกจากบ้าน ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการปกป้องผิวจากรังสียูวี


ชนิดของรังสียูวี 

รังสีจากแสงแดดที่มีอันตรายต่อผิวหนัง แบ่งได้เป็น 3 ช่วงคลื่นใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ 


รังสี UVA เป็นรังสีที่สามารถแทรกซอนลงไปถึงผิวชั้นลึก ๆ หรือผิวหนังชั้นล่างได้ มีพลังทำลายเนื้อเยื่อและดีเอ็นเอของเซลล์ผิว โดยเป็นตัวการทำลายคอลลาเจนและความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งจนเกิดริ้วรอยลึกหรือผิวเหี่ยวย่น ทำให้เกิดฝ้า กระ มะเร็งผิวหนัง และผิวหมองคล้ำ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวดูแก่กว่าวัย  


รังสี UVB มีความสามารถในการทะลุทะลวงที่ต่ำกว่า UVA แต่กระนั้นก็ยังสามารถทะลุลงไปได้ถึงชั้นหนังกำพร้า UVB เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความร้อนที่ผิวของเราสัมผัสได้ ทำให้ผิวหนังแดง ไหม้แดด รู้สึกแสบร้อน เป็นตัวการหลักที่ทำให้สีผิวของเราหมองคล้ำ หรือที่เราเรียกว่า แดดเผา 


รังสี UVC มีความสามารถทะลุทะลวงต่ำที่สุด จึงทำให้ผ่านลงมาที่พื้นโลกได้ไม่มากนัก เพราะเกือบทั้งหมดถูกกรองไว้ในชั้นบรรยากาศโดยโอโซนที่ห่อหุ้มโลกของเราอยู่ ผลิตภัณฑ์กันแดดส่วนใหญ่จึงไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสีชนิดนี้


ค่า PA ในการป้องกันรังสี UVA 

PA ย่อมาจาก Protection Grade of UVA เป็นค่าที่แสดงถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากรังสียูวีเอ (UVA) และเครื่องหมาย + ที่ตามหลังนั้น คือ ค่าความสามารถในการปกป้องผิว โดยวัดเป็นจำนวนเท่าของการเกิดผิวคล้ำดำ (Persistent Pigment Darkening, PPD) โดยค่า PA จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ ดังนี้ 

PA+ มีประสิทธิภาพเป็น 1-4 เท่าของ PPD หรือ มีคุณสมบัติการป้องกันระดับเริ่มต้น 

PA++ มีประสิทธิภาพเป็น 4-8 เท่าของ PPD หรือ มีคุณสมบัติการป้องกันระดับปานกลาง 

PA+++ มีประสิทธิภาพเป็น 8-16 เท่าของ PPD หรือ มีคุณสมบัติการป้องกันระดับสูง 

เหมาะกับคนที่ทำงานกลางแดด

PA++++ มีประสิทธิภาพมากกว่า PPD 16 เท่าขึ้นไป หรือ มีคุณสมบัติการป้องกันระดับสูงมาก เหมาะสำหรับคนที่ต้องทำงานกลางแดดอยู่ตลอดเวลา)


ค่า SPF กับประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB 

ค่า SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor หรือที่หลาย ๆ ท่านเรียกง่าย ๆ ว่า “ค่า SPF” คือตัวเลขที่บ่งบอกถึง “ความสามารถในการป้องกันรังสี UVB ไม่ให้เกิดอาการแดงของผิวหนัง”

ในการคำนวณระยะเวลาในการป้องกันรังสี UVB จะต้องดูที่ผิวของเราเป็นหลัก ซึ่งผิวของแต่ละคนจะมีระยะเวลาในการตอบสนองต่อรังสี UVB ไม่เท่ากันอยู่แล้ว อย่างเช่น คนผิวขาวเมื่อตากแดดไปเพียง 10 นาที ผิวก็จะเริ่มแดง แต่สำหรับคนเอเชีย หรือคนไทยทั่วไปที่มีผิวสองสีจะต้องใช้เวลาตากแดดที่มากกว่าถึง 15 นาที ก่อนที่ผิวจะเริ่มแดง หรือถ้าหากเป็นคนผิวสีเข้มหรือผิวดำ ก็อาจจะต้องตากแดดนานถึง 30 นาที ผิวถึงจะเริ่มแดง เป็นต้น ส่วนตัวเลขหลัง SPF ที่ระบุไว้ อย่าง SPF30 นั้นจะหมายถึง “ระยะเวลาที่นานกว่าเวลาที่เริ่มทำให้ผิวแดงเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่เรายังไม่ได้ทาครีมกันแดดจำนวน 30 เท่า” ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเราอาบแดดในหน้าร้อนโดยที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด ปรากฏว่าผิวของเราเริ่มแดงเมื่อเวลาผ่านไป 10 นาที หากเราใช้กันแดดที่มีค่า SPF30 ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ผิวแดงได้นาน 10 x 30 = 300 นาที ดังนั้น หลังจากนาทีที่ 300 เป็นต้นไป หากเรายังมีความจำเป็นต้องโดนแสงแดดอยู่ ขอแนะนำให้ทาครีมกันแดดซ้ำด้วย


แต่ในชีวิตจริงเรามักทากันแดดกันไม่ถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ ประสิทธิภาพที่บอกไว้ก็อาจจะลดลง

30 – 50% เช่น จากตัวเลข 5 ชั่วโมง ก็อาจจะเหลือเพียงแค่ 2 – 3 ชั่วโมง จำง่าย ๆ นะคะว่า ยิ่งค่า SPF สูงก็ยิ่งแสดงว่าครีมกันแดดนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้มากขึ้น (นานขึ้น) ด้วย ดังนี้ 

  • SPF 2 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 50% 

  • SPF 4 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 75% 

  • SPF 6 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 80% 

  • SPF 15 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 93.3% 

  • SPF 20 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 95% 

  • SPF 25 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 96% 

  • SPF 30 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 96.7%

  • SPF 45 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 97.8% 

  • SPF 50 ป้องกันอันตรายจาก UVB ได้ 98% 

จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดที่ค่า SPF สูง ๆ นั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย ซึ่งประสิทธิภาพในป้องกันอันตรายจาก UVB จะสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนถึง SPF30 เท่านั้น เมื่อเลยจากจุดนี้ไป ประสิทธิภาพในการป้องกันจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยมาก ๆ ซึ่งต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้น เราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตามหากันแดดที่มีค่า SPF สูง (และราคาสูง) มากเกินไปมาใช้


กันแดดมีกี่ประเภท?

1.กันแดดประเภทสะท้อนรังสี (Physical Sunscreen)

จะมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสี UV ออกไปจากชั้นผิวหนัง และปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB มักไม่มีการตกค้างบนผิว ไม่อุดตัน เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย เด็กและสตรีมีครรภ์สามารถใช้ได้


2.กันแดดประเภทดูดซับรังสี (Chemical Sunscreen)

ครีมกันแดดประเภทนี้จะช่วยดูดรังสี UV ไม่ให้ทะลุผ่านเข้าสู่ผิวหนัง มีเนื้อสัมผัสบางเบา ไม่ต้องใช้ปริมาณที่เยอะก็ปกป้องได้ ใช้งานง่าย สามารถใช้คู่กับสกินแคร์ชนิดอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี


3.กันแดดประเภทผสม (Hybrid Sunscreen)

ครีมกันแดดประเภทสุดท้ายนี้จะรวมเอาคุณสมบัติการสะท้อนรังสีกับการดูดซับรังสีเอาไว้ พูดง่าย ๆ ก็คือรวมจุดเด่นของกันแดดทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน ผลิตภัณฑ์กันแดดส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทนี้


ต้องทาครีมกันแดด 2 ข้อนิ้ว ถึงป้องกันแสงแดดได้ จริงหรือ?

บางคนอาจยังไม่ทราบว่าปริมาณของการทาครีมกันแดดที่ป้องกันแสงแดดได้ผลดี อยู่ที่ 2มิลลิกรัม ต่อ 1 ตารางเซนติเมตรของผิวหนัง หรือ ควรทาครีมกันแดดปริมาณ 2 ข้อนิ้วมือสำหรับบริเวณใบหน้าและลำคอ โดยเริ่มทาก่อนออกแดด 15 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชม. หากอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน


ทริคง่าย ๆ ในการเลือกครีมกันแดด ให้สังเกตจากค่า SPF และ PA หากต้องออกไปทำกิจกรรมที่โดนแสงแดดโดยตรง ควรเลือกกันแดดที่มี SPF30 และ PA++ ขึ้นไป เพราะประเทศไทยแดดค่อนข้างแรง หากเลือกค่าที่ต่ำกว่านั้น อาจไม่เพียงพอให้ปกป้องผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


อีกคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญ คือเลือกจากความสามารถในการกันน้ำ หากต้องอยู่กลางแดดทั้งวัน หรือไปทำกิจกรรมที่โดนน้ำ เช่น ไปทะเล ควรเลือกกันแดดที่มีคุณสมบัติ Water-resistant ป้องกันน้ำและเหงื่อ เพื่อช่วยให้กันแดดติดทนนานยิ่งขึ้นค่ะ

Related Posts

จีเอ็ม คลินิกเวชกรรม อุบลราชธานี

109,111 ถ.ยุทธภัณฑ์ ตรงข้ามสถานีดับเพลิง

ข้างเทศบาลนครอุบลหลังเก่า  ต.ในเมือง

อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี 34000

เปิดบริการ 11.00 - 20.00 น (หยุดทุกวันอังคาร)

bottom of page